เขียนและภาพประกอบ โดย เจนจิรา จินตนาเลิศ
มิติศักดิ์สิทธิมีจริงรึเปล่า? ฉันเหยียบย่างเข้าสู่พื้นที่ มองเห็นโลกคู่ขนานทับซ้อน หลับตา เคลื่อน ฟัง รับรส สัมผัส หาขอบเขตของมัน และพบว่าแท้จริงแล้วผสมปนเปเป็นธรรมดา บันทึก —10.05.2021 ครบหนึ่งเดือนแล้วหลังจากเดินทางกลับจากการไปพักผ่อนระยะยาวในภาคใต้ที่ฉันได้กลับไปสัมผัส ความมหัสจรรย์ของธรรมชาติ อีกครั้งที่งาน Sacred Mountain Festival เทศกาลพักผ่อนแบบเยียวยาทางจิตวิญญาณ ที่เกาะพะงัน จังหวัดสุราษธานี ที่เค้าใช้ชื่อ Sacred Mountain เพื่อป็นการอ้างอิงถึงดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เทศกาลเคยจัดที่นั่น ปีนี้เป็นการจัดงานครั้งที่ 3 กับการทดลองจัดที่พะงันเป็นครั้งแรก
1. ลุกล้ำสู่พื้นที่
สำหรับฉัน มันคือการเยือนพื้นที่ที่ฉันนิยามมันเบื้องต้นว่าเป็น ‘ที่ทางแห่งเสรีภาพทางจิตวิญญาณ’ นี้เป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่เคยได้ร่วมงานที่เชียงดาวเมื่อปีที่แล้ว การลุกล้ำเข้าสู่พื้นที่ ครั้งแรกเกิดจากความไม่ตั้งใจ มันเริ่มจากอากับอาการโหยหาธรรมชาติ บวกกับความยังอินอยู่กับประเด็นงานวิจัยป.โทที่ศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่การบริโภคที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติของมนุษย์ในยุคปลายของโลกทุนนิยม-เสรีนิยมใหม่
จากที่เมื่อก่อนออกทะเลบ่อยๆ การได้ไปสำรวจป่าในเชียงดาวทำให้ฉันได้ใกล้ชิดสนิทกับธรรมชาติได้ในอีกรูปแบบ และดันชอบพอมัน เมื่อเพื่อนชวนว่างานนี้จัดที่นั่น ฉันก็ไม่รีรอที่จะไป การลุกล้ำโดยบังเอิญนี้ ทิ้งฉัน (ที่มองตัวเองว่าเป็นคนที่แทบจะแยกขาดกับการมีความเชื่อทางจิตวิญญาณไปเลยเสียด้วยซ้ำ) ไว้กับความสงสัยกึ่งต้านทานในความเชื่อทางศาสนาและการเยียวยาผ่านบรรยากาศของการชุมนุมเป็นชุมชน แม้ความใคร่สนใจสงสัยในจุดประสงค์ของเทศกาลนี้ยังมีอยู่ ความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งอย่างประหลาดที่จำได้ขึ้นใจ ประกอบกับการจัดใกล้ทะเล พื้นที่ที่ฉันคุ้นเคยยิ่งกว่า ทำให้ฉันตัดสินใจเข้าสำรวจพื้นที่อีกครั้ง ครั้งนี้ด้วยความตั้งใจ

Sacred Mountain Festival 2020, เชียงดาว
2.หลับตาตื่นขึ้นในมิติศักดิ์สิทธิ์
เกาะพะงัน — บนหาดของรีสอร์ทสำหรับการ retreat ชื่อ The Santuary ด้วยสถานการณ์โควิด พื้นที่ถูกจัดสรรค์ไว้สำหรับเทศการนี้โดยเฉพาะ เช้าแรก พวกเราเริ่มต้นสร้างอาณาเขตศักดิสิทธิร่วมกันผ่านการอ่าน ‘บทร่ำวิงวอดมารดาธรรมชาติผู้ไร้นาม’ ที่ถูกประพันธ์ขึ้นใหม่สำหรับเทศกาลนี้ และใช้ท่วงท่าของการว่ายน้ำลอดระหว่างก้อนหินสองก้อนที่หน้าหาดเป็นการแสดงออกว่าการก้าวข้ามสู่พื้นที่ทางจิตวิญญาณได้สำเร็จลุล่วงแล้ว ตลอด 5 วัน 4 คืนบนพื้นที่นี้ เราจะปฏิบัติการดำเนินชีวิตในรูปแบบที่อาจแตกแยกกับวิถีเดิมบนโลกที่เราเคยดำเนิน แตกแยกกับการให้คุณค่ากับอุดมการณ์และทัศนะบางรูปแบบ แตกแยกกับการทำงานหนักเพื่อเป้าหมายบางอย่างและการพัฒนาชีวิตไปในบางทิศทาง และเปิดรับการร้อยเรียงเชื่อมโยงใหม่กับธรรมชาติภายในตัวตน (?) ผ่านการเรียนรู้ที่การมองเห็นและการพูดแสดงความคิดเห็นไม่ได้เป็นใหญ่ หากแต่การเคลื่อนไหวร่าง สำรวจ ศิโรราบ สะท้อนคิด และรับฟังเรื่องราวปกรณัมอย่างตั้งใจต่างหากที่จะแสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิของมนุษย์และธรรมชาติ

พิธีเปิด Sacred Mountain Festival 2021 —ประตูสู่มิติทางจิตวิญญาณ จะเลือกข้ามหรือไม่ข้ามก็ได้
หลายครั้งที่เข้าร่วมกิจกรรมที่เลือก ฉันพบว่าฉันหลับตา -- ไม่ว่าใจเป็นระหว่างการฝึกโยคะ, การเต้นรำในพิธี Cacao Ceremony พิธีกรรมของชนเผ่ามายาโบราญที่ดื่มโกโก้เพื่อปรับสมดุลกายใจและจิตวิญญาณให้บริสุทธิ์ ผ่านการแสดงออกใดๆก็ตามที่ก็นับเป็นการปลดเปลื้องต่อโลกอย่างตรงไปตรงมาแล้ว, การเคลื่อนไหวร่วมสมัยที่เน้นการสำรวจความสัมพันธ์ภายในร่างและสิ่งอื่นรอบตัวผ่านการเคลื่อนแบบด้นสด (Contact Improvisation), การเคลื่อนไหวแบบแผนไทยโบราญ (Thaivedic) สำรวจธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ, ฟังเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ทางศาสนาโบราญของวงแม่มด, หรือแม้แต่ตอนนอนเฉยๆอาบแดดริมหาด ฟังเสียงธรรมชาติ และลงว่ายน้ำทะเล
ทุกครั้งที่หลับตาและปล่อยให้ผัสสะอื่นในร่างได้ก้าวเข้ามาบนสปอร์ตไลท์เพื่อดำเนินอากัปกิริยา ในสภาวะเหล่านั้น ฉันตื่นขึ้น ในมิติที่อาจเป็นพื้นที่ที่คนในนี้เค้าเรียกกันว่าศักดิ์สิทธิ์ละมั้ง มิติคู่ขนานที่ไม่ได้ถูกกดทับด้วยเพียงการมองเห็นและการถูกเห็น พื้นที่แห่งเสรีภาพที่ฉันสัมผัสได้ถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ กับความรู้สึกอิสระในรูปแบบที่การดำเนินชิวีตในวิถีแบบคนเมืองของฉันเข้าถึงมันได้ยากกว่า อิสระที่จะเชื่อในท่วงท่า ในการแสดงออก ในเรื่องเล่าตำนานโดยไม่คิดคัดกรองสงสัย ราวกับธรรมชาติในร่างที่ไม่ค่อยได้ถูกใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อน ฟัง รับรส สัมผัส ได้ค่อยๆถูกปลุกให้ตื่น

หาด The Sanctuary, Sacred Mountain Festival 2021

โคนต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ The Tree จุดรวมใจของงาน สามารถเอาข้าวของส่วนตัวมาวางเพื่อรับพลังงานร่วมได้

หินและคริสตัลธรรมชาติ แหล่งรวมพลังงานและศักยภาพด้านต่างๆจากธรรมชาติ จากวงแม่มด
3.สู่การตั้งคำถามถึงขอบเขตทางความเชื่อ และการมีอยู่ของความศรัทธาทางศาสนาในโลกปัจจุบัน
ก้อนความใคร่สงสัยมวลรวมๆ ไม่ได้ชำแหละลึกที่พกมาตั้งแต่การลุกล้ำครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว บัดนี้ถูกเปิดออก และมันคงเป็นคำถามที่ว่า สำหรับฉันแล้ว ความเชื่อความศรัทธาทางศาสนาเป็นคุณค่าที่จำเป็นไหมในโลกปัจจุบัน? การที่ฉันผู้ไม่ประสีประสาทางศาสนาอะไรเลยรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมนี้คงเป็นผลพวงมาจากบรรยากาศความเปิดกว้างและโอบอุ้มกันกับคนในชุมชนเพียงในฐานะเพื่อนมนุษย์ ละมั้ง ถึงจะมีองค์ประกอบทางศาสนาและความเชื่อหลากหลายศาสตร์อยู่บ้างในบางกิจกรรม แต่การไม่กล่าวนิยามและปล่อยให้ธรรมชาติทั้งในตนและนอกตนได้กระทำการเยียวยา ฉันคิดว่าเพียงพอแล้ว
ในโลกที่ผนังทางตันถูกพบได้ง่ายดาย อาจด้วยความรวดเร็วฉาบฉวย ด้วยการมองเห็นและรับรู้ด้วยตามากเกินไป ด้วยการอยู่ในความจริงของความคิด ด้วยกรอบของจริยะและข้อจำกัดหลากรูปแบบ ด้วยความจำเป็นต้องมอบร่างกายหลายส่วนให้เป็นแรงงานของระบบ ฯลฯ กรอบกำแพงและการแบ่งแยกถูกสร้างขึ้นใหม่ทุกวัน ก่ออิฐปูนทับลงบนการเติบโตของเมล็ดพันธุ์แห่งธรรมชาติ การปลดเปลื้องน่าจะเป็นทางออกที่ยั่งยืนกว่าการกักเก็บ กดลง ปกปิด กรอบซ้ำ พื้นที่ของเทศกาลนี้ได้ทลายขอบผนังกำแพงเหล่านั้น
มิติศักดิ์สิทธิ์นี้บอกกับฉันว่าธรรมชาติไม่มีขอบเขต มันผสมปนเปแบบนี้แหละ จงศิโรราบและปล่อยให้ธรรมชาติได้กระทำการในแบบของมัน
และแม้ว่ามารดาแห่งธรรมชาติผู้ไร้นามจะเป็นธรรมชาติรอบตัวหรือตัวเราเอง มันคงไม่สลักสำคัญที่จะเฝ้าสงสัยการมีอยู่ของความศรัทธาในรูปแบบใดอีกต่อไป เพราะเมื่อได้ปรับจูนตนให้อยู่ในมิติที่ไม่ระแคะระคายกาย ใจ จิตวิญญาณ จนเมื่อนิเวศในกายได้เชื่อมโยงกับนิเวศแห่งตนที่กว้างใหญ่ไพศาลออกไปอีกครั้งแล้ว ตัวตนอันศักดิ์สิทธิที่แตกต่างหลากหลายทั้งหลายคงได้ผุดขึ้น งอกออก และผลิบาน พร้อมที่จะต้านทานแรงกดหนักหน่วง และการฉาบฉุบซ้ำๆอันไม่เป็นธรรมชาติทั้งหลายแหล่ มิติขนานคงไม่เพียงขนาบ แต่ทับซ้อนอยู่กับโลกในทุกวัน เป็นธรรมชาติ ได้ดั่งเรื่องราวธรรมดาสามัญ

เกาะพะงัน